ไปดูแบบมาจากปีนัง “มงกุฎดอกไม้ทองคำ” ของว่าที่เจ้าสาว “ปอย ตรีชฏา”
เพจนางในซึ่งมักจะเสนอเรื่องราวความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้และคนจีนโพ้นทะเลในอุษาคเนย์เล่าถึงว่า “มงกุฎทองของเจ้าสาว – มงกุฎและสายสะพาย” ของว่าที่เจ้าสาว “ปอย ตรีชฏา”
อันเนื่องมาแต่คุณ “ปอย ตรีชฏา” : มงกุฎทองของเจ้าสาว - มงกุฎและสายสะพาย
อ่านต่อ:“อั๋น ภูวนาท” ยินดี “ปอย ตรีชฎา” ลั่นระฆังวิวาห์ 1 มีนาคมนี้แล้ว
ภาพข่าวการเตรียมตัววิวาห์ของคุณ “ปอย ตรีชฏา” นักแสดงชื่อดังของไทย มีภาพคุณปอยสวมใส่มงกุฎทอง งดงาม มงกุฎนี้เรียกในภาษาจีนกลางว่า “ฮัวก่วน” (花冠)แปลตรงตัวเลยว่ามงกุฎดอกไม้
มงกุฎดอกไม้ไหวทองนี้เป็นเครื่องประดับศีรษะของเจ้าสาวชาวเปอรานากันรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ มงกุฎมีหลายแบบ แบบหนึ่งจะเป็นเหมือนมงกุฎจีนสำหรับสตรีบรรดาศักดิ์ อีกแบบหนึ่งทำเป็นวงรอบศีรษะ ประดับประดาด้วยดอกไม้ และปิ่นปักผมรูปทรงต่างๆ ทั้งรูปหงษ์ ดอกไม้ ผีเสื้อ
แบบที่เป็นพวงบุปผาสันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากการประดับศีรษะของชาวมาเลย์ มงกุฎลักษณะนี้ในปีนังและมะละกา จะใส่ในวันแต่งงานวันที่ 3 ส่วนวันแรก บ่าวสาวจะแต่งชุดจีนเต็มยศ แต่วันที่ 3 ผ่านหญิงจะแต่งชุดครุยแบบมลายู ผ่ายชายแต่งชุดสูท อย่างไรก็ตามในไทย เจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะแต่งชุดครุย และชุดสูทเลย
การใส่มงกุฎประดับชุดเจ้าสาวแบบนี้ในจีนมีมาแต่โบราณ โดยจะใส่พร้อมสายสะพาย เรียกว่า เฟิงกวนเซี่ยเพ่ย (凤冠霞帔 :fèng guān xiá pèi) แปลตรงตัวเลยคือมงกุฎและสายสะพาย เครื่องประดับนี้จะเป็นเครื่องประดับสตรีบรรดาศักดิ์ สตรีสามัญไม่มีสิทธิ์แต่ง
มงกุฎจะเป็นทรงกลมหรือครึ่งวงกลม ส่วนสายสะพายจะเป็นผ้ายาวเป็นวงห้อยเหนือบ่า ยาวเกือบถึงข้อเท้า สมัยราชวงศ์ชิง เปลี่ยนมาคลายเสื้อคลุม สวมลงมาทางศีรษะ ข้างหน้าเสื้อปักลายยศราชการของสามี แต่จะปรับเป็นลายนกของฝ่ายข้าราชการพลเรือนเท่านั้น
มงกุฎและสายสะพายเป็นสิ่งที่บอกความรุ่งเรืองของสตรี จนภายหลังคำว่า “เฟิงกวนเซี่ยเพ่ย”เป็นการสะท้อนว่าสตรีผู้นั้นวาสนาดี มียศใหญ่ ได้สามีดีถือเป็นคำอวยพรอย่างหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจะห้ามสตรีสามัญชน สามีไม่ได้รับราชการแต่งตัวอย่างสตรีบรรดาศักดิ์ ชีวิตมักจะมีข้อยกเว้น ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง ในวันสมรส บ่าวสาวแม้จะเป็นคนธรรมดาแต่ก็แต่งชุดข้าราชการระดับล่างได้เพื่อเป็นเกียรติในวันวิวาห์ โดยฝ่ายชายแต่งชุดขุนนางชั้นล่างสุดระดับ 9 เป็นชุดเจ้าบ่าวได้
การแต่งกายของฝ่ายหญิงในงานวิวาห์จริงๆแล้วกฏคืออนุญาตให้ใส่ชุดคลุมแขนยาว และปักปิ่นทอง แต่ว่าเจ้าสาวไม่ค่อยจะพอใจกัน เพราะเจ้าบ่าวแต่งชุดข้าราชการออกโก้เก๋ถึงเพียงนี้ กระไรเลยจะให้ตัวเองแต่งกายพื้นๆเป็นหญิงชาวบ้าน ดังนั้นเจ้าสาวจึงแต่งตัวเต็มยศตามอย่างสตรีบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่า มิ่งฟู (命妇)กันทั่วหน้า มงกุฎสายสะพายต้องมีให้พร้อม
ในยามนั้นทางการก็มิได้สนใจกฏการแต่งกายเท่าไรแล้ว อย่าแต่งตัวเลียนแบบฮ่องเต้เป็นพอ มีเงินจะแต่งสวยแค่ไหนก็แต่งไป ด้วยเหตุนี้ เหล่าสตรีจีนจึงแต่งกายอย่างอลังการในงานวิวาห์สมใจ ใส่มงกุฏห้อยสายสะพายกันถ้วนหน้า จนกลายเป็นคำพูดในงานวิวาห์ว่า “สวมมงกุฎ ห้อยสายสะพาย ขบวนแห่สินเดิมยาว 10 ลี้“ (凤冠霞帔十里红妆)สื่อว่างานแต่งครั้งนี้เจ้าสาวสูงส่งด้วยยศและมั่งมีนัก ญาติพี่น้องก็รักใคร่ สวมทั้งมงกุฎและสายสะพาย ไหนจะขบวนแห่สินเดิมที่ญาติฝ่ายเจ้าสาวนำมาส่งยังยาวตั้ง 10 ลี้
ชาวจีนเปอรานากันนั้นรักษาธรรมเนียมไว้อย่างเต็มที่ เจ้าสาวแต่งชุดจีนเต็มยศ มงกุฎอาจจะทำจากทองคำ หรือเงินชุดทองแล้วประดับด้วยขนนกกระเต็นที่เรียกว่าเตี่ยนชุ่ย (点翠)แม้ต่อมาชุดวิวาห์จะเป็นเสื้อคลุมแบบมาเลย์ สายสะพายจะหายไป แต่มงกุฎยังคงอยู่ แม้จะผันรูปเป็นมงกุฎดอกไม้ไหวตามแบบชาวมาเลย์ก็ตาม
ต่อมาเมื่อชาวจีนเปอรานากันรับอิทธิพลตะวันตก มงกุฎดอกไม้ไหวได้เปลี่ยนรูปอีกครั้ง กลายเป็นเทียร่าอย่างฝรั่ง สำหรับชุดแต่งงานอย่างตะวันตก
ข้าพเจ้าไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เปอรานากันที่ปีนังพอดี เลยถ่ายรูปมาแบ่งปัน จะเห็นว่ามีทั้งมงกุฎเพชร มงกุฎแบบจีนทำจากทองคำบ้าง เครื่องเงินเครื่องประดับขนนกกระเต็นสีฟ้าบ้าง ตามความชอบของเจ้าสาว
ส่วนมงกุฎดอกไม้ไหวของคุณปอยนี้ผลิตขึ้นในไทย โดยคุณปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม และกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนอง ทางกลุ่มได้เล่าเรื่องของที่มาของมงกุฎทองไว้อย่างน่าฟังว่า
“มงกุฎดอกไม้ไหว (ฮัวก๋วน) ทองคำ ของคุณตรีชฎา มาลยาภรณ์ (คุณปอย) ที่จะใช้วิวาห์บาบ๋า ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทางกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนอง ได้รับเกียรติให้จัดทำมงกุฎเจ้าสาวบาบ๋าทองคำ โดยวัสดุทั้งหมดทางคุณปอยจัดส่งมาให้ผลิตทั้งหมด ทราบว่าเป็นทองคำแท้ ทั้งดิ้นและดอกไม้ทอง ทางกลุ่มใช้เวลาทำ 3 เดือน รูปแบบมงกุฎทำจากความต้องการภาพสเก็ตของเจ้าสาว เป็นมงกุฎทรงโบราณ ที่มีดอกไม้ละเอียดยิบ ตามภาพเจ้าสาวโบราณ
ขอบคุณ คุณปอยที่ให้โอกาสกลุ่มหัตถศิลป์เล็กๆในจังหวัดระนอง
ขอบคุณกลุ่มแม่บ้านตำรวจภูธรจังหวัดระนอง และ แม่บ้านตำรวจภูธรภาค 8 ที่สนับสนุนแม่บ้านตำรวจมาช่วยในการจัดทำส่วนประกอบต่างๆของมงกุฎ“
ทั้งนี้คุณ “ปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม” ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมงกุฎอีกว่า
“ขอเสริมให้อีกนิด ในอดีตมงกุฎดอกไม้ไหวมิได้ประกอบเป็นวงสำเร็จอย่างปัจจุปัน แต่อยู่ในรูปแบบปิ่นปักผมเป็นชิ้นๆ เมื่อแต่งตัวเจ้าสาวจึงมาประดับผมให้เป็นทรงมงกุฎ แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการสวมใส่ จึงนำมายึดติดกับโครงลวด
มงกุฎเจ้าสาวดอกไม้ไหวของชาวบาบ๋าปีนัง และชาวบาบ๋าอันดามันของไทย รูปทรงมงกุฎมีความใกล้เคียงกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียด คือของปีนั้งนั้นทำจากโลหะมีค่าเช่นทองหรือเงินกาไหล่ทอง ของไทยนั้นประดิษฐ์จากดิ้นโปร่งและดิ้นข้อ ซึ่งพบเห็นทั่วไปในวิวาห์บาบ๋าฝั่งอันดามันของไทย ภูเก็ต พังงา ระนอง สตูล กระบี่
สำหรับมงกุฎของคุณปอย ตรีชฎานั้น ทำตามความต้องการของเจ้าสาว คือมีความผสมผสานระหว่าง ปีนังและไทย คือใช้ทั้งงานโลหะมีค่าคือทองคำ และดิ้นโปร่งและดิ้นข้อ ฝรั่งเศส”
เกร็ดอีกข้อ เมื่อข้าพเจ้าไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ พบว่าดอกไม้ไหวนี้ที่ปีนังเจ้าสาวจะนำมาทำเป็นพุ่มดอกไม้งดงาม ประดับหัวเตียงของตนในวันวิวาห์ ชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มีการผสมตุ๊กตาตาชาววังไทยเข้าไปด้วย
ในงานวิวาห์ที่จะมาถึง คุณปอยมีมงกุฎดอกไม้ไหวอันงามพร้อมด้วยฝีมือกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนองตามธรรมเนียมเจ้าสาวภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว ส่วนขบวนแห่เจ้าสาว แฟนๆจะร่วมเดินส่งตัวเจ้า 10 ลี้ ไม่น่าจะยาก เพราะตอนนี้แค่นำคำอวยพรมาร้อยเรียงก็เกิน 10 ลี้เสียแล้ว
ขอแสดงความยินดีกับว่าที่คู่บ่าวสาว ณ ที่นี้ด้วย